นี่มักเป็นคำถามที่พบมากในการฝึกอบรมและสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
เรามาลองทำความรู้จักกับมันให้ชัดเจนกันดีกว่า
ประสิทธิภาพ ( Efficiency )
จาก Longman dictionary
Efficiency : The quality of doing something well and effectively, without wasting time, money, or energy.
…. ประสิทธิภาพคือ คุณภาพในการทำสิ่งต่างๆได้ดีและบรรลุผล ( มีประสิทธิผล ) โดยปราศจากความสูญเปล่าทางเวลา เงิน หรือพลังงาน …..
ด้วยความหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพนั้นมีประเด็นที่สำคัญอยู่สองประการคือ
1) เป็นการวัดคุณภาพของกิจกรรมต่างว่าทำได้ดีมากน้อยเพียงใด
2) กิจกรรมดังกล่าวต้องเกิดผล ( มีประสิทธิผล) จึงจะวัดค่าได้

คำว่าประสิทธิภาพจึงถูกใช้กันอย่างแพร่หลายและบ่อยครั้งในสารพัดกิจกรรมที่ต้องการวัดผลของความสำเร็จ ดังเช่น
1) ประสิทธิภาพในทางธุรกิจ ( Business Efficiency)
…วัดในรูปสัดส่วน (เปอร์เซนต์) ของรายจ่ายต่อรายรับ ( Expenses / Revenue)
ในกรณีนี้ค่าที่ต่ำจะบอกถึงความมีประสิทธิภาพมาก เพราะจ่ายออกไปน้อยกว่าการหาเข้ามา
2) ประสิทธิภาพในการอนุรักษ์พลังงาน ( Energy Conservation)
… วัดในรูปสัดส่วนของ พลังงานที่ลดลงได้ต่อพลังงานทั้งหมดที่ใช้ก่อนลด
ตย. ลดพลังงานไฟฟ้าได้ 5 KWH จากการใช้งานปรกติ100 KWH
ประสิทธิภาพ = 5/100 = 5%
3) ประสิทธิภาพในการผลิต ( Quality)
… วัดในรูปสัดส่วนของ ชิ้นงานดีที่ผลิตได้ต่อชิ้นงานทั้งหมดที่ป้อนเข้ากระบวนการ
ตย. จากงานเริ่มต้น 100 ชิ้น ได้งานดีออกมา 99 ชิ้น
ประสิทธิภาพ = 99/100 = 99%
สังเกตุว่าในกรณี 2และ3 นั้นค่าที่สูงจะบอกถึงความมีประสิทธิภาพมาก เพราะว่าทำการลดพลังงานได้มากขึ้นหรือสร้างของดีได้มากขึ้นนั่นเอง
** ดังนั้นการจะบอกว่ากิจกรรมใดมีประสิทธิภาพมากหรือน้อย ต้องพิจารณาจากธรรมชาติของกิจกรรมนั้นด้วยว่าผลลัพธ์ควรออกไปทางค่าสูงหรือต่ำ นี่เป็นเกณฑ์ที่สำคัญ

ประสิทธิผล ( Effectiveness )
จาก Longman Dictionary
Effectiveness : Producing the result that was wanted or intended :
The ads were simple, but remarkably effective.
… ประสิทธิผลคือ การสร้างผลลัพธ์ด้วยความต้องการหรือตั้งใจ
ตัวอย่าง งานโฆษณาเหล่านั้นดูธรรมดาแต่ได้ผลที่น่าชื่นชม….
จะเห็นว่าการที่จะเรียกว่ามีประสิทธิผลหรือไม่ต้องมีองค์ประกอบอยู่สองส่วนคือ
1) ต้องเกิดผล
2) เป็นผลที่เกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่นให้เกิด (ไม่ใช่จากความบังเอิญ )

แล้วประเด็นคำถามมักจะเกิดขึ้นดังนี้
Q1: ประสิทธิผลสูงหรือต่ำเขาวัดกันอย่างไรหล่ะ?
A1: ก็วัดจากตัวเลขของประสิทธิภาพสิ
ลองย้อนกลับไปดูความหมายของประสิทธิภาพจะเห็นได้ว่ามันต้องเกิดผลจึงจะวัดค่าประสิทธิภาพได้
Q2: หมายความว่าประสิทธิภาพเป็นดัชนีวัดความมีประสิทธิผล?
A2: เมื่อดูจากความหมายแล้วก็ใช่เลย
ประสิทธิผลเหมือนเป็นนามธรรมที่มีมิติเดียวในแนวตั้ง คาดหวังสูงจากผลลัพธ์ของกิจกรรมที่มุ่งมั่นจะให้เกิด หากผลลัพธ์ที่ได้ตรงกับความคาดหวังก็เรียกว่ามีประสิทธิผลสูง ตรงข้ามหากผลลัพธ์ที่ได้ต่ำไปจากความคาดหวังก็เรียกว่ามีประสิทธิผลต่ำ โดยใช้รูปธรรมของประสิทธิภาพมาวัด
ประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมที่มีหลากหลายมิติ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้วัดผลกิจกรรมอะไร โดยตัวขับเคลื่อนให้เกิดผลถูกวัดในเชิงปริมาณว่า มากหรือน้อย ตัวอย่างเช่นการเทกองทรายลงกับพื้น ทรายจะไหลตัวออกไปในแนวนอนทุกทิศทางจนหยุดที่ความสูงระดับหนึ่ง(แนวตั้ง) เมื่อเทมาก (ขับเคลื่อนมาก) ก็จะได้ผลจากมิติทั้งสองมาก เมื่อเทน้อย (ขับเคลื่อนน้อย) ก็จะได้ผลน้อยลง ดังนั้นประสิทธิภาพจึงถูกวัดผลออกมาในเชิงปริมาณ มากหรือน้อย ตามตัวขับเคลื่อนนั่นเอง
Q3: การได้มาซึ่งประสิทธิผลจึงควรกำหนดเป้าหมายและมิติของประสิทธิภาพอย่างชัดเจน?
A3: ถูกต้อง
การจะได้ประสิทธิผลสูงหรือต่ำ จะขึ้นอยู่กับความตั้งใจหรือคาดหวังว่าจะให้เกิดผลอย่างไร เกิดผลในมิติไหน ( นี่เรียกว่าธรรมชาติของกิจกรรมที่ต้องการ)
ตย) ต้องการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ( มิติการลดพลังงาน ) ลง 5% จาก 5,000 KWH / เดือน ( ผลที่คาด) *** 5% = 250 KWH
… หากผลที่ลดได้ 200 KWH ประสิทธิภาพ = 200/5,000 = 4 % ( มีประสิทธิผลต่ำกว่าเป้า )
… หากผลที่ลดได้ 250 KWH ประสิทธิภาพ = 250/5,000 = 5 % ( มีประสิทธิผลสูง)
… หากผลที่ลดได้ 300 KWH ประสิทธิภาพ = 300/5,000 = 6 % ( มีประสิทธิผลสูงกว่าเป้า)
… หากผลที่ลดได้ 0 KWH ประสิทธิภาพ = 0/5,000 = 0 % ( ไร้ประสิทธิผลโดยสิ้นเชิง )

Q4: ประสิทธิผลมีการจำแนกประเภทหรือไม่?
A4: โดยส่วนตัว ขอจำแนกเป็น 3 ประเภทดังนี้
1) ประสิทธิผลเชิงเดี่ยว
วัดจากประสิทธิภาพของกิจกรรมตัวเดียวและมิติเดียว ( มีหน่วยเดียวกัน ) ที่ต้องการวัดความสำเร็จของมัน ดังตัวอย่างต่างๆข้างต้น
2) ประสิทธิผลหลากมิติ
เป็นประสิทธิผลชั้นสูงที่วัดค่าจากประสิทธิภาพเชิงเดี่ยวหลากหลายตัวประกอบกัน เป็นการแสดงถึงระดับของความเหนือชั้นที่มองถึงมิติโดยรวมของเรื่องที่เกี่ยวข้องเอาเข้าไว้ด้วยกัน
ตัวอย่างเช่น ค่า
OEE ( Overall Equipment Effectiveness ) หรือ ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร
" OEE เป็นดัชนีวัดความสำเร็จที่สำคัญของกิจกรรม TPM ( Total Productive Maintenance ) และ Lean Manufacturing"
เป็นประสิทธิผลหลากมิติที่วัดผลรวมผ่านประสิทธิภาพ 3 ตัวได้แก่
2.1) Availability ( ประสิทธิภาพในการทำให้เครื่องจักรทำงานได้ตามจำนวนเวลาที่วางไว้)
2.2) Performance ( ประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้จำนวนตามเป้า)
2.3) Quality ( ประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้ชิ้นงานดี)
OEE = Availability x Performance x Quality ( %)
ในระดับ World Class แล้ว OEE จะวัดประสิทธิผลอยู่ที่ 85% โดยคาดหวัง
Availability 90%, Performance 95% และ Quality 99%

3) ประสิทธิผลแบบเชิงซ้อน
เป็นประสิทธิผลที่มีมิติของประสิทธิภาพมากกว่าหนึ่งตัว โดยจะปล่อยให้มิติที่คาดหวังให้เกิดผลถูกขับเคลื่อนไปอย่างเต็มที่ในทิศทางที่กำหนด ส่วนตัวที่เหลือจะถูกตรึงเอาไว้ให้เป็นตัวอ้างอิง เปรียบเทียบหรือตัวส่งเสริม
ตัวอย่างที่โดดเด่นของประสิทธิผลแบบเชิงซ้อนก็คือ Productivity หรือ ผลิตภาพ
จาก Longman Dictionary
Productivity : The rate at which goods are produced and the amount produced compared with the work, time, and money needed to produce them.
… ผลิตภาพ เป็น อัตราของสินค้าและจำนวนที่ถูกผลิตเปรียบเทียบกับงาน เวลาและเงินที่ใช้ผลิตมัน …
ตัวอย่าง 1: ผลิตภาพในการใช้แรงงาน
… สินค้าที่ผลิตได้ / จำนวนชั่วโมงแรงงานที่ใช้ ( output/ labor-hour)
กรณีนี้ ผลที่ได้มาจากการตรึงจำนวนชั่วโมงแรงงานที่ใช้ไว้ที่ 1 labor-hour แล้ววัดว่าผลิตงาน ( เกิดผล )ได้ดีเท่าไรเมื่อเทียบกับเป้า เท่ากับเป้า สูงกว่าเป้าหรือต่ำกว่าเป้า
# เป็นการคาดหวังที่จะได้จำนวนงานที่มากขึ้นจากหนึ่งชั่วโมงแรงงานที่ใช้
ตัวอย่าง 2: ผลิตภาพในการใช้เวลางาน
… สินค้าที่ผลิตได้ / จำนวนเวลางานที่ใช้ ( Output/ Working hour or UPH )
# เป็นการคาดหวังที่จะได้จำนวนงานที่มากขึ้นจากหนึ่งชั่วโมงการทำงานที่ใช้
ตัวอย่าง 3: ผลิตภาพในการสร้างผลกำไรของทรัพยากรบุคคล
… ผลกำไร / จำนวนทรัพยากรบุคคลที่ใช้ ( Profit / Human Resource )
# เป็นการคาดหวังที่จะได้ผลกำไรที่มากขึ้นจากพนักงานหนึ่งคนที่มี
Q5: นอกจากใช้ประสิทธิภาพมาเป็นตัววัดความมีประสิทธิผลแล้ว ใช้ดัชนีตัวอื่นได้หรือไม่ ?
A5: ดัชนีทางสังคม ครับ
ตัวอย่าง ตำแหน่งหน้าที่การงาน ( ไม่นับพวกเด็กเส้น หรือ พวกส้มหล่นจนตีนบวม )
ความมั่นคงทางการเงิน ( จากสัมมาชีพ อันสุจริต )
ความสุขในครอบครัว ( อบอุ่น ลูกจบปริญญา และมีงานทำ เป็นต้น )
จะวัดอย่างไรว่ามีประสิทธิผลหรือ ? ก็ดูจากเป้าหมายที่แต่ละคนตั้งไว้แล้วเทียบกับผลที่ได้ครับ
ตัวอย่างที่โดดเด่นในเรื่องนี้ต้องยกให้หลักการของ Stephen R. Covey ในหนังสือที่ชื่อ
“ 7 อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง หรือ 7 Habits of Highly Effective People”
หลักการนี้ชี้แนะในเห็นว่า คนเราทุกคนเริ่มต้นชีวิตด้วย สภาวะการพึ่งพาผู้อื่น อยู่ภายใต้อิทธิพลของคนอื่นที่จะขับเคลื่อนเราไปในทางต่าง ๆ
จากนั้นเมื่อมีการพัฒนาด้วยการสร้างขอบเขตอิทธิพลของตนเองขึ้นมาบนหลักการที่ถูกต้อง มีคุณธรรมและจริยธรรม เราก็จะพบกับอิสระ หลุดพ้นจากการครอบงำ เขียนบทชีวิตของตนเองในทิศทางที่ต้องการได้ อ้นนี้เรียกว่า สภาวะพึ่งตนเอง
จนเมื่อเชื่อมต่อโครงข่ายของการพึ่งตนเองของแต่ละคนเข้าด้วยกันและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
อันนี้เรียกว่า สภาวะการพึ่งพาซึ่งกันและกัน
คนเราเมื่อลองได้พัฒนาจนถึงจุดสุดยอดของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ย่อมรังสรรค์ผลงานอันหลากหลายและโดดเด่นฝากจารึกไว้ในชีวิตของตนเองได้ ทุกกิจกรรมล้วนใช้คนในการสร้างหากคนคนนั้นมีประสิทธิผลในตนเองก็ย่อมไปสร้างประสิทธิผลให้เกิดกับกิจการต่างๆได้ นี่แหละคือที่มาของผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง
ลองหาอ่านดูนะครับ หนังสือเล่มนี้ไม่มีวันตกยุคหรือล้าสมัยเพราะมันถูกเขียนขึ้นจากหลักความจริง
Q6: มีไหมที่ได้ประสิทธิภาพสูงแต่ใม่มีประสิทธิผล
A6: ก็พอจะมีจากกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องกันที่วัดประสิทธิผลในขั้นตอนสุดท้าย
ตัวอย่าง การฝึกอบรมที่ผู้เรียนทำคะแนนได้ดีมาก แต่พอนำไปปฏิบัติจริงกลับทำให้เกิดผลไม่ได้เลย พวกนี้เรียกว่า เก่งแต่เรียนอย่างเดียวแต่ทำงานไม่เป็นไง
โปรดทราบ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่รวบรวมวัตถุดิบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ผนวกกับประสบการณ์ในชีวิตการทำงานร่วม 20 ปี การจะเชื่อจึงขอให้ใช้หลักกาลามสูตรมาพิจารณาว่า
มีเหตุผลตามหลักการหรือไม่ ให้คุณหรือให้โทษ แล้วลองนำไปใช้อธิยายประสิทธิภาพและประสิทธิผลดูว่าสมควรที่จะเชื่อหรือไม่
และเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เขียนได้ที่
อาจารย์ วีระพันธ์ เขมะนุเชษฐ์
email : thaibettersolutions@gmail.com
mobile : 084-549-2451
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น